ร้านค้าออนไลน์กลุ้มใจหนัก จะโพสต์สินค้าโปรโมตแต่ละทีต้องคิดหน้าคิดหลังไปเสียหมด เพราะกลัวผิดกฎหมาย แต่ PDPA ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด! พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์วางใจได้เลยเพราะบทความนี้จะช่วยให้ร้านค้าออนไลน์เข้าใจและทำตาม PDPA ได้อย่างถูกต้อง รวมทุกข้อควรรู้…ทำแบบไหนไม่ผิดกฎ เพิ่มความสบายใจให้ทั้งคนขายและคนซื้อ มีอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
รู้จัก PDPA
PDPA ที่เราเรียกกันสั้นๆ นั้น ย่อมากจาก Personal Data Protection Act เป็นพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปัจจุบันเป็นฉบับปี พ.ศ.2562 โดยประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2565
กฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อคุ้มครองและป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของ ‘ประชาชนทุกคน’ นอกจากนี้ยังคุ้มครองการถูกจัดเก็บข้อมูลและนำข้อมูลไปใช้โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าและไม่ได้รับการยินยอมจากเจ้าของข้อมูล โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นข้อมูลที่ใช้เพื่อระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูล การบังคับใช้กฎหมาย PDPA ย่อมช่วยป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่การถูกแฮ็กบนโลกออนไลน์ที่มีมากขึ้น เพราะฉะนั้นบริษัท ร้านค้า และองค์กรต่าง ๆ ที่เก็บข้อมูลจากการสมัครสมาชิก การทำธุรกรรมทางการเงิน ล้วนต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลทั้งสิ้น
PDPA คุ้มครองข้อมูลอะไรบ้าง ?
กฎหมายฉบับนี้จะคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลโดยจะต้องเป็นข้อมูลที่ทำให้สามารถระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้เท่านั้น แบ่งเป็นสองประเภท ดังนี้
- ข้อมูลส่วนบุคคลทั่วไป (Personal Data)
ข้อมูลทั่วไปที่สามารถระบุตัวตนได้ เช่น ชื่อ-สกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เลขบัตรประจำตัวประชาชน เลขที่หนังสือเดินทาง ทะเบียนรถ ข้อมูลทางการเงิน หรือข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็น อีเมล รหัสผ่าน ตำแหน่งตาม GPS เป็นต้น
- ข้อมูลส่วนบุคคลที่อ่อนไหว (Sensitive Personal Data)
ข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างจะอ่อนไหว เช่น เชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ข้อมูลสุขภาพ ข้อมูลอาชญากรรม ความคิดเห็นทางการเมือง เป็นต้น ร้านค้าหรือบริษัทควรเก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และระมัดระวังในการใช้ เพราะการบังคับใช้กฎหมายกับข้อมูลประเภทนี้ก็มีความเข้มงวดกว่าข้อมูลทั่วไปมากขึ้นเช่นกัน
ซื้อ-ขายออนไลน์อย่างไร ไม่ให้ละเมิด PDPA
เมื่อเราเป็นร้านค้าขายของออนไลน์ การทำการซื้อขายกับลูกค้า ทางร้านย่อมจะได้รับข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า เพื่อเป็นการยืนยันการซื้อขาย และเพื่อความสะดวกในการจัดส่งสินค้า มาดูกันว่าร้านค้าออนไลน์จะต้องระมัดระวังการใช้ข้อมูลลูกค้าอย่างไรบ้าง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้ให้ข้อมูลไว้ดังนี้
- การขอข้อมูลลูกค้า
ร้านค้าห้ามขอข้อมูลลูกค้าเกินความจำเป็น โดยข้อมูลที่จำเป็นแก่การซื้อขายจะมีเพียงแค่ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์หรือไลน์ไอดี เพื่อใช้ติดต่อกับลูกค้าและจัดส่งของเท่านั้น โดยร้านค้าไม่จำเป็นต้องขอความยินยอมจากลูกค้า ส่วนการขอข้อมูลอื่นๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความอ่อนไหว ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น และยังเสี่ยงต่อการละเมิด PDPA อีกด้วย
- การเผยแพร่ข้อมูลการชำระเงินหรือการจัดส่งของ
ร้านค้าห้ามเผยแพร่สลิปหรือหลักฐานการซื้อขายสินค้าที่มี ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ และหมายเลขพัสดุบนช่องทางสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น หน้าเพจของร้าน เว็บไซต์ ไลน์กลุ่ม สามารถส่งได้เฉพาะช่องทางการสนทนาแบบส่วนตัวกับลูกค้าเท่านั้น
ข้อควรระวัง ! โพสต์รูป-ลงคลิปโปรโมตสินค้า ทำแบบไหนไม่ผิดกฎหมาย
- การใช้รูปหรือวิดีโอของบุคคลอื่นหรือติดภาพบุคคลอื่น
หากร้านค้าจะใช้รูปหรือคลิปวิดีโอเพื่อโปรโมตสินค้าภายในร้าน ไม่ว่าจะลงเป็นโพสต์ หรือส่งให้ลูกค้าดูในช่องทางส่วนตัว การนำภาพของบุคคลอื่นมาใช้ในเชิงพาณิชย์ จำเป็นจะต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลในรูปก่อนทุกครั้ง โดยรูปที่นำไปใช้นั้น ต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับบุคคลในรูป
- การใช้รูปจากงาน Event
ร้านค้าออนไลน์บางร้าน มีการจัดงานอีเว้นต์สำหรับโปรโมตสินค้าที่เพิ่งเปิดตัวใหม่ หรือจัดงานเพื่อให้ลูกค้าได้มีส่วนร่วมกับร้านค้ามากยิ่งขึ้น การใช้รูปจากงานเหล่านี้ในการโปรโมตบนช่องทางออนไลน์ จำเป็นจะต้องแจ้งให้ผู้เข้าชมในงานได้รับทราบว่าจะมีการถ่ายภาพระหว่างการเข้าร่วมงาน และแจ้งจุดประสงค์ในการโพสต์ภาพเหล่านั้น โดยจะต้องเป็นภาพที่ไม่ทำให้ผู้ร่วมงานเสื่อมเสียชื่อเสียง
บทลงโทษเมื่อละเมิด PDPA
สำหรับการทำตามกฎหมาย PDPA บอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายก็ควรระมัดระวังข้อมูลต่างๆ ของลูกค้าให้มากๆ เพราะถ้าหากเกิดความเสียหายผิดพลาดจนถึงขั้นถูกฟ้องร้องดำเนินคดี จะมีบทลงโทษทางกฎหมายที่ไม่เบาเลยทีเดียว
- บทลงโทษทางแพ่ง: ทางร้านจะต้องเสียค่าสินไหมทดแทน และค่าสินไหมเพื่อการลงโทษอีกไม่เกิน 2 เท่า
- บทลงโทษทางอาญา: จำคุกสูงสุดไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปี หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 500,000 ถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- บทลงโทษทางปกครอง: มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท หรืออาจเห็นสมควรสั่งให้แก้ไขและถูกตักเตือนก่อน
แม่ค้าพ่อค้าออนไลน์ร้านไหนอยากจะโพสต์ภาพ หรือขอข้อมูลลูกค้า ล้วนเป็นสิ่งที่ทำได้ตามกฎหมายทั้งสิ้น เพียงแต่หัวใจหลักอยู่ที่การขอความยินยอมจากลูกค้า และจะต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือทำให้บุคคลอื่นเกิดความเสียหาย เชื่อว่าร้านค้าที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว จะปฏิบัติตามได้อย่างถูกต้องอย่างแน่นอน
หากร้านไหนกำลังมองหาขนส่งสำหรับจัดส่งพัสดุให้ถึงมือลูกค้า หมดกังวลข้อมูลลูกค้ารั่วไหล อย่าลืมให้ นินจาแวน ช่วยดูแลลูกค้าทุกคน